วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553

เรื่องย่อคนนอก อัลแบร์ กามู
นวนิยายของนักเขียนรางวัลโนเบิล 2500
อำพรรณ โอตระกูล ; แปล

คนนอกเป็นเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และมีความสุขในชีวิตอย่างธรรมดา ไม่สุขล้นเหลือ ไม่ทุกข์มากมาย ทำงานตามหน้าที่ๆควรจะเป็น หญิงที่เป็นคนรักถามกับเขาว่ารักเธอรึเปล่า เขาไม่ตอบว่ารักหากแต่เขาบอกว่าเขาพร้อมจะแต่งงานกับเธอหากเธอต้องการ “คุณเมอโซ” ใช่เขาชื่อเมอโซ วันหนึ่งเขาต้องไปเฝ้าศพคุณแม่ในคืนนั้นเขา สูบบุหรี่ นอนหลับ และดื่มกาแฟใส่นม
เมอโซมีเพื่อนบ้านสองคน คนหนึ่งเป็นชายแก่ เลี้ยงหมาที่หัวเน่าเป็นหมาขี้เรื้อน แกทุบตีทำร้ายมันทุกวัน สาดคำด่าใส่มันแต่แกก็รักมัน อีกคนเป็นเพื่อนบ้าน เรมอนด์เขามีเมียเป็นคนอาหรับมีเรื่องทะเลาะกันและสุดท้ายเดือดร้อนถึงเมอโซ เรื่องราวช่วงแรกเรียบง่ายอบอุ่นเป็นสุขดี จนเกิดเรื่องไม่คาดขึ้น เมอโซยิงคนตาย ในเนื้อเรื่องผมไม่แน่ใจและเกิดคำถามหนึ่ง
เมอโซยิงนัดแรกเพื่อป้องกันตัว แล้วนัดสองถึงห้าละ อะไร? ทำให้เขาตัดสินใจยิงซ้ำไปที่ศพแต่คำถามนี้ก็หายเงียบไปในห้วงความคิด เมอโซโดนสอบสวนคดีความเรื่องไม่น่าจะมีอะไรเพราะหลักฐานมีพร้อมอยู่แล้ว เมอโซก็ไม่ได้หนีหายไปไหนแต่อย่างไร
น่าประหลาดที่ผลการสอบสวนกับไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น วันที่เขาไปเฝ้าศพของแม่คืนนั้นล่ะ. อัยการกำลังผูกเรื่องให้ศาลและลูกขุนเห็นว่าก่อนนหน้านั้นเมอโซมีพฤติกรรมแสดงออกอย่างไรในงานศพของแม่ตัวเอง

เขาได้ตอบคำถามที่ท่านประธาน(ศาล)ถาม เขาบอกว่าฉันไม่อยากดูศพแม่ ฉันได้สูบบุหรี่ ฉันได้นอนหลับ และดื่มกาแฟใส่นม ฉันมีความรู้สึกว่าอะไรบางอย่างได้ทำให้คนทั้งห้องฮือขึ้น และเป็นครั้งแรกที่ฉันรู้สึกว่าตนเป็นคนผิด

เขาที่ว่าคือคนที่ดูแลห้องเฝ้าศพในคืนนั้น ประเพณีการเฝ้าศพของฝรั่งเศษผมไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นยังไง แต่อ่านเอาจากเนื้อเรื่องก็พอเดาได้ว่าการกระทำของเมอโซนั้น เป็นเรื่องที่คนปกติไม่ทำกัน มันอาจไม่ได้ระบุไว้ในกฏหมายหากแต่เป็นเรื่องที่สังคมถือเอาเป็นสิ่งควรกระทำ ใครที่ไม่มีองค์ประกอบข้างต้นจึงน่าจะถือได้ว่าไม่เข้าพวก หรือเรียกว่า”คนนอก”นั้นเอง
ขณะเดียวกันนั้นผมมีความรู้สึกเข้าใจเมอโซ มันเป็นเรื่องที่บอกยากมีหลายอย่างที่คล้ายกันแต่เหตุผลเป็นสิ่งที่แต่ละคนให้ แน่ละผมรักพ่อรักแม่แต่ผมจำไม่ได้เหมือนกันว่าพ่อแม่ผมอายุเท่าไรอย่างดีคือวันเกิดได้เพื่อโทรหากันและสุขสันวันเกิดแบบมีความสุขเล็กๆ เหมือนที่ผมรักเพื่อนแต่ผมก็จำวันเกิดพวกเขาไม่ได้สักคน
งานศพพี่ชายผมไม่ได้ร้องไห้ต่อหน้าศพแม้แต่วันเดียว นับแต่วินาทีที่ผมไปรับศพที่โรงพยาบาล พาศพเดินทางจากกรุงเทพกลับบ้าน ผมนอนหลับด้วยความเหนื่อยล้า ผมมาถึงบ้านพร้อมศพ และเห็นคนเศร้าเสียใจร้องไห้เมื่อเห็นศพพี่ชายผม ทว่าผมไม่เศร้าไม่เสียใจงั้นเหรอ เศร้าสิ เสียใจฉิบหาย แต่ผมเห็นคนร้องไห้เยอะเกินไป ทำให้ร้องไห้ไม่ลง ไง. เลวมั้ยละ
วันก่อนวันเผาพี่ชายผมชวนน้องชายไปซื้อของขวัญให้หลานสาว จุดเทียนให้เค็กและร้องเพลงวันเกิดให้หลานสาวต่อหน้าโลงศพพี่ชาย เปลวเทียนหน้าศพส่องประกาย รูปหน้าศพเป็นรูปพี่ชายกำลังยิ้ม หลานสาวผมแต่งชุดที่พี่ชายผมซื้อให้ก่อนหน้านั้น พี่ชายผมบอกให้เธอใส่ในวันเกิด แล้วพวกเรากินเค็กด้วยกัน เป็นวันแรกที่แม่ผมเริ่มกินอาหารได้เพราะไม่ยอมกินอะไรมาหลายวัน แน่ละคนที่ผมรักและผมห่วงที่สุดขณะนั้นไม่ใช่ “ศพ” ของพี่ชาย หากแต่เป็นอีกสองสามชีวิตที่จมอยู่ในความเศร้า
คนอื่นเดินผ่านไปมาคงรู้สึกแปลกๆที่พวกเราเป่าเทียนวันเกิดในงานศพ แต่ก็นั่นละครับ หากคุณมองในมุมของ “คนนอก” มีสาเหตุและเงื่อนไขมากมายเหลือเกินที่ทำให้คนเรามีการแสดงออกแบบนั้นแบบนี้ ในหลายๆครั้งที่เราเองมักเอาไม้บรรทัดของตัวเองไปวัด “ความเป็น” ของคนอื่นและลำดับประเภทแยกแยะเพื่อสร้างบางสิ่งบางอย่างที่ผมไม่อยากเอ่ยถึง ให้กับตัวเอง ขณะนั้นผมคล้ายได้ยินเสียงอัยการในคดีของเมอโซกล่าวผ่านสายลมว่า

“ท่านคณะลูกขุน ในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันฝังศพมารดาเขา ผู้ชายคนนี้ได้ไปว่ายน้ำ เริ่มมีความสัมพันไม่สม่ำเสมอกับผู้หญิงคนหนึ่ง อีกทั้งยังมีแก่ใจไปหาความสนุกสนานโดยการดูหนังตลก ข้าพเจ้าไม่มีอะไรกว่านี้จะบอกท่านแล้ว”

ฉากการว่าความในคดีของเมอโซนับเป็นห้วงขณะที่ก่ออารมณ์ความรู้สึกบางอย่างให้คนอ่าน อย่างน้อยก็ผมละ ที่นึกถึงคำว่า”คนนอก”ในอีกอย่าง แม้แต่ทนายประจำตัว(ที่เมอโซไม่ได้ร้องขอ) ยังบอกให้เมอโซอยู่เฉยๆในขณะเขาว่าความ แน่ละนี่มันสนามของคุณนี่ เกมของคุณ ผมมันคนนอก ผมแค่ยืนดูพวกคุณเล่นเกมน้ำลาย และเอ่ยถึงคำว่าศิลธรรมกันจนน่าสะเอียน จบเกมคุณลากคอผมขึ้นเครื่องประหารกิโยตินโดยที่ผมไม่ได้แม้จะบอกกล่าวความคิดของตัวเอง บ้าชิบ!!
ขณะนั้นเองผมคิดถึง”ไอ้ฟัก”ในเรื่อง “คำพิพากษา” ของเฮียชาติ กอบ- เรื่องราวมันคล้ายๆกันตรงที่ไอ้ฟักโดนสังคมพิพากษา (ภายหลังผมไปอ่านคำนำผู้แปลของ”ความตายอันแสนสุข”จึงพบว่าผมไม่ได้รู้สึกคนเดียว ฮ่าๆ) แต่นั่นก็เรื่องของไอ้ฟักปล่อยแกไปก่อน เรื่องนี้เป็นเรื่องของเมอโซ ชายผู้ไม่มีความหวังในพระเจ้า ฉากสุดท้ายคือการประทะความคิดระหว่างนักบวชที่เรียกตัวเองว่า “พ่อ” เมอโซปิดฉากความคิดนั้น

เขาพยายามจะเปลี่ยนเรื่องพูด โดยการถามฉันว่า ทำไมฉันจึงเรียกเขาอยู่ตลอดเวลาว่า “คุณ” ไม่เคยเรียกเขาว่า “พ่อ” เลย สิ่งนี้ทำให้ฉันโกรธงุ่นง่าน ฉันเลยตอบเขาว่า ก็เพราะเขาไม่ใช่พ่อเขาน่ะสิ เขาเป็นพ่อของคนอื่น

ท้ายสุดของเรื่องราวคือห้วงสุดท้ายที่เมอโซได้แสดงให้เห็นถึงความสงบและแสดงออกถึงจุดยืนของความคิดตัวเอง ความสุขของเขาเอง มีข้อความหนึ่งผมเคยอ่านเจอในหนังสือ ‘way’ ชอบเลยจดเก็บเอาไว้

” คนที่ไม่ปราถนาความสุข คือคนที่มองไม่เห็นว่าตัวเองดำรงอยู่บนโครงสร้างแบบไหน เมื่อไม่เห็นโครงสร้างนั้นเสียแล้ว ก็ย่อมมองไม่ออกว่าตำแหน่งแห่งหนที่ตนกำเนิดและดำรงอยู่นั้นกำลังกดทับบนบ่าของคนอื่นๆอย่างไรบ้าง”
-โตมร ศุขปรีชา-

ผมจบบันทึกเกี่ยวกับเรื่องคนนอกในขณะที่ฟ้ามืดพอดี ออกไปยืนรับลมอ่อนๆริมระเบียง ปล่อยห้วงความคิดให้ล่องลอยไป และมลายหายไปในอากาศร้อนบัดซบ..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น